วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประวัติ หลวงพ่อควง วัดปากคลองพระอาจารย์ ต.บางลูกเสือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

                                                                       
                                    หลวงพ่อควง วัดปากคลองพระอาจารย์
           พระครูโอภาสอาจารคุณ หรือที่บรรดาญาติโยมผู้มีอายุมากกว่าท่านจะเรียกขานท่านว่า" อาจารย์ควง" และในบรรดาหมู่ศิษยานุศิษย์ที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้จะเรียกท่านว่า "หลวงพ่อควง" อดีตพระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะตำบลบางลูกเสือ และเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองพระอาจารย์ ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก  ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์นิรนาม แห่งลุ่มแม่น้ำนครนายก ผู้เข้มขลังไปด้วย พุทธาคมและฌานสมาธิอันแก่กล้า เป็นที่เคารพสักการะเลื่อมใสของบรรดาญาติโยมและศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดทั้งใกล้และไกล สามารถที่จะสัมผัสและรับรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของท่านได้เป็นอย่างดี

          หลวงพ่อควง จฺนโทภาโส มีนามเดิมว่า ควง นามสกุล อาทิตย์ฉาย เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2474 ที่บ้านปากคลองพระอาจารย์ เป็นบุตรของเตี่ย บู่ทอง แซ่เจ็ง กับ คุณแม่ สังวาลย์ อาทิตย์ฉาย ชื่อของท่านแต่เดิมนั้น โยมแม่และโยมเตี่ยและพี่สาวของท่าน จะเรียกกันติดปากว่า "กวง" เพราะออกสำเนียงเป็นภาษาจีน ตามโยมเตี่ยของท่าน
          หลวงพ่อควง มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน 8 คน ดังนี้ คือ
          1.นางเจียร อิ่มเจริญ      (เสียชีวิตแล้ว)
          2.นางจี่      แซ่อึ๊ง          (เสียชีวิตแล้ว) 
          3.นายฮง   อาทิตย์ฉาย  (เสียชีวิตแล้ว)
   
          4.พระครูโอภาสอาจารคุณ(หลวงพ่อควง จนฺโทภาโส)   (มรณภาพแล้ว)

          5.นางไน้     เจียรสถิตย์   (เสียชีวิตแล้ว)
          6.นางเตียง  ร่วมพุ่ม        (เสียชีวิตแล้ว)
          7.นายบานเย็น     ใจวิศาลสถิตย์
          8.นางศิริพร     จันทร์วิวัฒน์

              ในวัยเยาว์ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดปากคลองพระอาจารย์ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นที่สูงสุดของโรงเรียนในขณะนั้น เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนแล้ว ก็ได้มาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามมารดาบิดา

               พอมีอายุครบ 20 ปี  ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุโบสถ วัดอรุณรังษี ต.บางลูกเสือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2495
           พระครูอนุกูลคณารักษ์(หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์(วัดศีรษะกระบือ) เป็นพระอุปัชฌาย์
           พระครูอรุณวิริยะกิจ(หลวงพ่อสายตาบ) เจ้าอาวาสวัดอรุณรังษี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
           ส่วนพระอนุสาวนาจารย์นั้นไม่ปรากฎนาม
           เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้รับฉายา ทางพระว่า "จนฺโทภาโส"
                                                               
             หลังจากอุปสมบทใหม่ในพรรษาแรกๆ พอออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อควง จะออกจาริกธุดงค์ไปตามป่าตามเขาและเข้าไปกราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์กับหลวงพ่อหลวงปู่ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติหาวิชาความรู้เพิ่มเติม ทั้งในด้านสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ในด้านวิชาคาถาอาคม วิชาการแพทย์โบราณรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสูตรยาสมุนไพรที่ลงด้วยคาถาอาคมศักดิ์สิทธิ์
          หลวงพ่อควงได้เล่าเรียนศึกษาสรรพวิชาเหล่านั้นจากหลวงพ่อหลวงปู่ครูบาอาจารย์มากมายหลายท่าน มีทั้งครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์และเป็นฆราวาส
          ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์นั้น หลวงพ่อควงเคยเล่าให้ญาติโยมฟังว่า นอกจากที่ท่านได้เป็นลูกศิษย์ของ "หลวงพ่อเงิน วัดสว่างอารมณ์" แล้ว  ท่านยังได้ไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์และศึกษาเล่าเรียนสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน และเล่าเรียนตำรับตำราคาถาอาคมจากหลวงพ่อหลวงปู่ครูบาอาจารย์อีกหลายท่านหลายวัดหลายจังหวัด รวมแล้วเป็นจำนวนถึง 11 ท่านด้วยกัน มีทั้งที่อยู่ในเขตจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ
                                                       
                                      

          หลวงพ่อควงได้เคยเดินทางไปกราบและถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสด จนฺทสโร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม. ตั้งแต่สมัยที่ท่านบวชในพรรษาแรกๆ และได้นำข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อสด มาปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างเคร่งครัด
          ส่วนอาจารย์ที่เป็นฆราวาสนั้นมีนามว่า อาจารย์ศิริ ซึ่งอาศัยอยู่ที่เขตชายแดนไทย เขมร ใน อ.ตาพระยา จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือ จ.สระแก้ว) คนทั่วไปจะเรียกท่านว่า "อาจารย์ชายแดน" เป็นอาจารย์ฆราวาสจอมขมังเวทย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาคาถาอาคมและวิชาสมาธิกรรมฐานถอดจิต ให้กับท่านอีกวิชาหนึ่ง
          หลวงพ่อควง  ท่านมุ่งเน้นในการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นหลัก จึงทำให้หลวงพ่อมีฌานสมาธิจิตที่แก่กล้าเข้มแข็ง และสามารถล่วงรู้ถึงวาระจิตของผู้อื่นได้ มีหลายครั้งที่ท่านกำลังนั่งพูดคุยกับญาติโยม ท่านสามารถพูดถึงอดีตและทำนายอนาคตของญาติโยมที่มานั่งพูดคุยด้วย ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
                                                   
          หลวงพ่อควง ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดปากคลองพระอาจารย์ ตั้งแต่อุปสมบทใหม่ในวันแรก ซึ่งในสมัยนั้น (พ.ศ.2495) วัดปากคลองพระอาจารย์ มีกุฎีไม้เก่าๆเกือบจะผุพังแล้วเพียงแค่หลังเดียว มีศาลาดิน มุงด้วยสังกะสีเก่าๆ ไม่มีพื้น อยู่ใกล้กับกุฎี เวลาญาติโยมมาทำบุญ ก็ปูเสื่อกก นั่งกันบนพื้นดินในศาลา รอบๆบริเวณมีแต่ต้นไม้ใบหญ้าเป็นป่ารกชัฏ สุดแสนที่จะทุรกันดารมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้ เทียนไขที่จะจุดไฟให้แสงสว่างก็หายากมาก ส่วนใหญ่จะใช้ตะเกียงกระป๋องสังกะสี ใช้เศษผ้าจีวร ทำเป็นไส้ตะเกียง แล้วเติมน้ำมันก๊าด จุดไฟให้เป็นแสงสว่าง ทั้งวัดก็จะมีตะเกียงเพียงแค่ใบเดียวหรืออย่างมากสุดก็สองสามใบเท่านั้น  รถยนต์ไม่ต้องพูดถึง แม้แต่รถจักรยานขี่ ก็ยังไม่มี ไปไหนมาไหน ต้องเดิน กับ พายเรือ ข่าวสารบ้านเมืองไม่ต้องรู้กัน เพราะวิทยุโทรทัศน์ ไม่มีให้ฟังไม่มีให้ดู
          ในตอนต้นๆปีก็จะมีพระบวชใหม่ลูกชาวบ้านปากคลองพระอาจารย์ มาบวชอยู่เป็นเพื่อนกัน 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง ที่อยู่นานถึงเดือนสองเดือนหรือจำพรรษาด้วย นั้นหายาก  พอใกล้ๆเข้าพรรษาก็จะลาสิกขาบทกันหมด คงปล่อยให้ หลวงพ่อควง ท่านอยู่จำพรรษาตามลำพัง หรือเรียกแบบชาวบ้านว่า อยู่เฝ้าวัด เพียงรูปเดียว เป็นประจำสม่ำเสมอตลอดมาหลายสิบปี ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อควงท่านจึงต้องทำหน้าที่ เป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดเป็นทั้งพระลูกวัดไปในตัว
          ในระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองพระอาจารย์ หลวงพ่อควง ได้ใช้สรรพวิชาที่ท่านเล่าเรียนมา ช่วยอนุเคราะห์ช่วยสงเคราะห์ญาตฺิโยมผู้ได้รับความทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนาๆ ที่รักษาด้วยวิชาการแพทย์สมัยใหม่ไม่หาย เมื่อมาหาหลวงพ่อควง ก็จะหายกลับไปหรือไม่ก็บรรเทาเบาบางลง ด้วยเหตุนี้จึงมีศรัทธาญาติโยมสาธุชนให้ความเคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อควงเป็นจำนวนมาก และได้เข้ามาช่วยบริจาคจตุปัจจัยพัฒนา วัดปากคลองพระอาจารย์ ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่นานนัก ก็สามารถสร้างโบสถ์ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ สร้างหอสวดมนต์ สร้างกุฎีที่พักสงฆ์ และศาสนสถานอื่นๆอีกมากมายหลายประการภายในวัด
           เมื่ออายุพรรษาและความรู้ความสามารถของหลวงพ่อควงเพิ่มมากขึ้น ทางคณะสงฆ์จึงเห็นสมควรจัดการแต่งตั้งให้ท่าน เป็น เจ้าอาวาสวัดปากคลองพระอาจารย์ อย่างเป็นทางการ และมอบหมายให้หลวงพ่อควง ทำหน้าที่ปกครองดูแลสั่งสอนอบรมพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสงฆ์บวชใหม่ สั่งสอนอบรมธรรมะให้กับญาติโยมพุทธบริษัทและกุลบุตรผู้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ
          หลวงพ่อควง ท่านได้รับความไว้วางใจจากทางคณะสงฆ์ และได้ดำรงตำแหน่งต่างๆจากทางคณะสงฆ์ ดังต่อไปนี้
          -วันที่  4  ตุลาคม   พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูชั้นประทวน และได้รับการอบรมเป็นพระสังฆาธิการที่โรงเรียนพระสังฆาธิการ เป็นรุ่นที่ 2  ในขณะที่ หลวงพ่อควง มีอายุได้ 41 ปี พรรษาที่ 21
          -วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ที่ พระครูโอภาสอาจารคุณ พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี เมื่อหลวงพ่อควงอายุได้ 48 ปี พรรษาที่ 28
          -วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2529  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ที่ พระครูโอภาสอาจารคุณ พระครูสัญญาบัตรชั้นโท เมื่ออายุ 55 ปี พรรษาที่ 35
          -วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2531 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุ 57 ปี พรรษาที่ 37
          -วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2537  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ที่ พระครูโอภาสอาจารคุณ พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ใน เมื่ออายุได้ 63 ปี พรรษาที่ 43
          -วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2540  ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะตำบลบางลูกเสือ ในขณะนั้น หลวงพ่อควง มีอายุ 66 ปี พรรษาที่ 46
                                                            

          ในระยะเวลาสิบกว่าปี หลวงพ่อควง ได้ออกจาริกธุดงค์เสาะแสวงหาเล่าเรียนวิชาจากครูบาอาจารย์จนสำเร็จลุล่วงไป ทำให้หลวงพ่อควงมีความมั่นใจในสรรพวิชาที่เรียนมาแล้ว จึงได้น้อมนำอัญเชิญครูบาอาจารย์ทั้งหมดที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาคาถาอาคมให้ท่าน จากนั้นจึงได้ขออนุญาตครูบาอาจารย์จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อไว้แจกบรรดาลูกศิษย์ลูกหา อาทิ เช่น พระสมเด็จหนังหน้าผากเสือ พิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่ ตะกรุดทองเหลือง และทองแดง จารอักขระด้วยลายมือของท่านเอง  ภาพถ่ายขนาดเล็ก ขาวดำ เป็นรูปของตัวท่านนั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ เขียนด้วยปากกาลูกลื่นด้วยมือของท่านเอง วัตถุมงคลรุ่นแรกที่เป็นภาพถ่ายรุ่นที่ 1 ของ หลวงพ่อควง รุ่นนี้ ต้องบอกว่าขลังมาก ญาติโยมศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกลต่างก็รับทราบได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันนี้หาได้ยากยิ่งนัก
                                    ภาพถ่าย ขาว ดำ (ยุคแรกๆ)
 ด้านหน้า

ด้านหลัง
           ต่อมาในปีพุทธศักราช 2513 หลวงพ่อควง ได้จัดสร้างเหรียญทองแดงรูปของท่านนั่งสมาธิเต็มองค์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เป็นเหรียญรูปทรงหยดน้ำก้นแหลม ด้านหน้าเป็นรูปของหลวงพ่อควงนั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านหลังเป็นอักขระยันต์ นะโม ถอยหลังเป็นปฐม เหรียญรุ่นนี้นับเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อควง ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณอันล้ำเลิศ หลวงพ่อควง อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว ตลอดไตรมาสสามเดือน ในระหว่างทำพิธีปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ มีช่วงระยะเวลาปลุกเสกขั้นสูงสุดเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน โดยหลวงพ่อควงจะอธิษฐานจิตไม่พูดไม่คุยกับใครๆทั้งสิ้น จนกว่าจะทำพิธีปลุกเสกเสร็จ เหรียญรุ่นนี้ญาติโยมศิษยานุศิษย์ต่างเสาะแสวงหากันเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ค่อยได้พบเจอกัน เพราะเป็นเหรียญรุ่นแรกที่หายากมากที่สุดของหลวงพ่อควง

                                     เหรียญรุ่นแรกด้านหน้า            
                                    เหรียญรุ่นแรกด้านหลัง
                               
          ตลอดอายุขัยของหลวงพ่อควง ได่ใช้วิชาความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาทั้งในทางโลกและในทางธรรม ช่วยอนุเคราะห์และสงเคราะห์ญาติโยมที่ได้รับความเดือดร้อนเจ็บป่วยไม่สบาย ทั้งทางกายและทางด้านจิตใจ ให้ผ่อนคลายและทุเลาเบาบางลงจากความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคภัยไข้เจ็บ ที่เกิดขึ้นจากวิชามนต์ดำ ถูกคุณไสย ถูกของกระทำด้วยเดรัจฉานวิชา ผีเข้าเจ้าสิง ถูกลมพัดลมเพ ให้เกิดมีอาการร่างกายแปรปวนจิตใจวิปริต เจ็บไข้ไม่สบายกายไม่สบายใจ หลวงพ่อควง ท่านจะรดน้ำมนต์อาบน้ำมนต์พ่นคาถากำจัดปัดเป่าให้หายขาดจนหมดสิ้นไปทุกๆคน
           วิชาต่อกระดูกประสานกระดูกที่แตกหัก หลวงพ่อควงท่านก็ได้เล่าเรียนมาและช่วยเหลือรักษาให้กับญาติโยมมากมายเป็นร้อยเป็นพันคนจนหายเป็นปรกติได้ดังเดิม โดยไม่ต้องพิกลพิการตัดแขนตัดขาแต่อย่างใด
           ญาติโยมบางคนที่เจ็บป่วยมาหาท่าน เนื่องจากรักษาในโรงพยาบาลไม่หาย หลวงพ่อควงก็จะนั่งทางในตรวจดูอายุขัยและทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้ ญาติโยมหลายต่อหลายคนได้หายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ได้ อย่างน่าอัศจรรย์ ส่วนบางคนที่ไม่หายขาดก็จะมีอาการทุเลาเบาบางลง
           หลวงพ่อควง ท่านเปรียบเสมือนที่พึ่งทางใจและทางจิตวิญญาณของญาติโยมสาธุชนชาวบ้านปากคลองพระอาจารย์ และชาวบ้านในละแวกบ้านใกล้เคียง ชื่อเสียงของท่านเลื่องลือสะพัดไปหลายจังหวัดในระยะเวลาอันไม่นานนัก จากปากต่อปากคำต่อคำของญาติโยมที่ได้พูดบอกต่อๆกันไป ทำให้มีญาติโยมทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลมาหาท่านโดยไม่ขาดสาย โดยไม่ต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อะไรทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้  หลวงพ่อควง จึงมีเวลาพักผ่อนน้อยน้อยลง
            ปรกติสุขภาพร่างกายของ หลวงพ่อควง สมบูรณ์แข็งแรงดีมาโดยตลอด ไม่เคยเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล
          แต่มาช่วงระยะหลังๆก่อนท่านจะมรณภาพได้ประมาณเดือนเศษ ท่านเคยบอกกับญาติโยมว่า  มึนๆงงๆจะเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมบ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก
          อยู่ต่อมาจนกระทั่ง  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2542 หลวงพ่อควง ได้มีอาการอาพาธกระทันหันด้วยโรคลมปัจจุบัน หมดสติอยู่ภายในกุฎีของท่านเมื่อญาติโยมทราบข่าวจึงได้รีบนำตัวท่านส่งโรงพยาบาลองครักษ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อมาถึงโรงพยาบาล คุณหมอบอกว่า หลวงพ่อควง ได้สิ้นลมหายใจและมรณภาพแล้วตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ญาติโยมพุทธบริษัท และบรรดาศิษยานุศิษย์อย่างใหญ่หลวงยิ่งนัก
          หลวงพ่อควง จนฺโทภาโส  มรณภาพ เมื่ออายุได้ 68 ปี พรรษาที่ 48
                                      ********************************
ขอบคุณที่มาบทความ  http://luangporkuang.blogspot.com/2013/05/blog-post.html