วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

พระกริ่งปวเรศ จำนวนสร้างน้อย ราคาสูง




สุดยอดวัตถุมงคล "พระกริ่งปวเรศ" วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ปัจจุบันหาชมได้ยาก ที่มีอยู่และเป็นที่ยอมรับไม่กี่องค์ เป็นต้นกำเนิดของพระกริ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างโดยองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อประทานแก่เจ้านายในวังที่สนิทคุ้นเคย หรือที่ท่านเคยเป็นพระครูอุปัชฌาย์ให้มาก่อน และสร้างไว้เป็นจำนวนที่ไม่มากนัก ตามประวัติที่กล่าวไว้ว่า ท่านได้สร้างไว้รวมทั้งหมดไม่น่าจะเกิน 3 ครั้ง และรวมทั้งสิ้นแล้วมีประมาณเพียง 30 กว่าองค์ โดยสร้างตามตำราที่ตกทอดมาจากสมเด็จพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นอาจารย์ขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 

เป็นพระกริ่งที่สร้างขึ้น มีศิลปะแบบพระกริ่งของจีน ตามแบบคตินิยมของลัทธิมหายาน ซึ่งหมายถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "พระพุทธองค์ไภสัชคุรุพุทธ" ได้เสด็จโปรดช่วยเหลือมนุษย์โลกในครั้งที่เกิดกลียุค พวกหมู่อมนุษย์ออกมารบกวนรังควาน เกิดมีโรคภัยไข้เจ็บ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ถือหม้อบาตรน้ำมนต์ มีประคำเป็นสังวาล ทรงประทับนั่งอยู่บนฐานบัว 2 ชั้น เป็นบัวแบบบัวปาละ (ศิลปะแบบอินเดีย) โดยมีดอกบัวอีกคู่หนึ่งอยู่ทางด้านหลัง และจะมีโค้ดเม็ดงาตอกเป็นสัญลักษณ์ อยู่ใกล้กันกับบัวคู่หลังนี้ทุกองค์ เป็นพระที่หล่อแบบโบราณก้นจะกลวง และฝังใส่เม็ดกริ่งไว้ แล้วก็อุดปะที่ใต้ฐานด้วยแผ่นเงิน, แผ่นทองแดง และแผ่นทองเหลือง แต่ต่อมาภายหลังบางองค์กริ่งไม่เดิน (เขย่าไม่ดัง มีสนิมขึ้น) อาจมีการเจาะที่สะโพกเพื่อใส่เม็ดกริ่งเพิ่มเข้าไปใหม่ก็มี อย่างที่เห็นเป็นรอยอุดเก่าในพระองค์นี้ 

ส่วนมากที่พบเห็นนั้น จะเป็นพระที่มีกระแสเนื้อนวโลหะ หรือเป็นเนื้อสำริดแก่เงินกลับดำ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า มีส่วนผสมจากแกนชนวนที่หลงเหลือจากการเทหล่อ หลวงพ่อพระพุทธชินราช และหลวงพ่อพระพุทธชินสีห์ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) จ.พิษณุโลก แล้วนำมาหลอมผสมร่วมด้วยกับนวโลหะ (โลหะทั้งเก้า) อันเป็นสูตรตามตำราโบราณที่ตกทอดมา และอาจจะมีการนำมาแต่งในภายหลัง โดยศิลปะของช่างหลวง ซึ่งแต่งได้ประณีตมาก จะมองเห็นเม็ดพระศกแต่งโดยตอกด้วยตัวตุ๊ดตู่ มีลักษณะเป็นวงกลมนูนขึ้นมาเล็กน้อย เป็นวงที่ซ้อนกันในบางจุด และมองเห็นตามร่องพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ พระหัตถ์ หรือตามกลีบบัว จะมีร่องรอยการเซาะแต่งเก่า เพื่อความคมชัดของพิมพ์ทรง ในองค์ที่มีการแต่งขอบจีวรให้มีลักษณะแบบลูกประคำ เป็นสร้อยสังวาล หรือในบางองค์อาจปล่อยไว้ แค่เพียงเป็นเส้นขอบจีวรก็มี ซึ่งลักษณะ ของการแต่งในแต่ละองค์อาจจะมีแตกต่างกันไป แต่เค้าโครงพระจากแม่พิมพ์เดิมก็จะยังอยู่ให้เห็น 

ที่สำคัญก็คือ พระกริ่งปวเรศเป็นพระหล่อโบราณ แต่หล่อโดยช่างหลวงที่มีฝีมือประณีตมาก สามารถไล่อากาศออกได้ดี จึงทำให้เนื้อพระเนียนและแน่นมาก หล่อด้วยกรรมวิธีเทหยอดโลหะในทางก้นฐาน แต่จะไม่มีรอยตะเข็บ และไม่มีรอยช่อเดือยให้เห็น ลักษณะของพระกรรณจะเหมือนกับใบหูจริง (เป็นศิลปะแบบเดียวกันกับพระกริ่งจีนใหญ่) และถึงแม้ว่าจะเป็นพระแต่ง แต่ก็จะแต่งในบางจุดเท่านั้น ดังนั้นคราบเบ้าผิวไฟ หรือคราบดินเก่าจากเบ้าแม่พิมพ์ ก็จะยังคงหลงเหลือพอติดอยู่ให้เห็นตามผิว (ถ้าพระไม่ผ่านการล้างมาอย่างหนัก) ส่วนการพิจารณาธรรมชาติของผิวกับเนื้อนั้น จะมีผิวที่ขึ้นดำกลับมัน (แต่จะแห้งจัดจนหมดประกาย) ส่วนการหดตัวของเนื้อจะเป็นลายที่หดตัวละเอียดยิบ และจะมีสนิมขึ้นกินได้น้อยไม่หนามาก เพราะผสมโลหะจนได้สูตร อย่างที่เห็นตามผิวของพระองค์นี้ จะมีสนิมเงินที่เป็นสีดำขึ้นจับกินขุม ดูติดกลืนเป็นผิวเดียวกันกับเนื้อ และมีสนิมหยกที่ถูกขับออกมาติดอยู่กับผิวอีกชั้น แต่ถ้าสังเกตในบางที่จะค่อยๆ เริ่มกลายเป็นสนิมคราม ซึ่งจะมีขึ้นก็เพียงเล็กน้อย 

อยู่ตามผิวชั้นนอกให้เห็นในบางจุดเท่านั้น
______________________________________________________

วัตถุมงคล "พระกริ่งปวเรศ" เป็นพระกริ่งองค์แรกที่กำเนิดในแผ่นดินไทย โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ พระสังฆราชเจ้าแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำริสร้างเพื่อไว้ประทานแด่เชื้อพระวงศ์ หรือผู้ที่เห็นสมควรเท่านั้น

"พระกริ่งปวเรศ" ทรงไว้ซึ่งพุทธศิลป์และความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งมีจำนวนน้อย เมื่อค้นคว้าสอบถามผู้รู้เก่าๆ ก็ไม่มีผู้ใดรู้จริง แม้จดหมายเหตุส่วนตัวของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ก็มิได้ระบุบอกถึงจำนวนที่สร้าง หรือรายละเอียดพระนาม และนามของผู้ที่ได้รับพระกริ่งปวเรศนั้นไป แม้จะลือกันว่าส่วนใหญ่ตกอยู่กับเชื้อพระวงศ์ คนทั่วไปคงจะเห็นแค่รูปภาพและเรื่องราวเป็นตำนานเท่านั้น 

เพียงเท่านี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ลึกลับดำมืดพอสมควรอยู่แล้ว และพระกริ่งปวเรศองค์ที่เป็นของจริงนั้น ก็คือองค์ต้นแบบที่ประดิษฐานอยู่ในเก๋งกระเบื้องดินเผาจีนที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดบวรฯ เวลามีงานใหญ่จริงๆ ถึงจะได้ชม แถมอยู่ไกลและอยู่ในเก๋งทำให้แทบจะพิจารณาให้ละเอียดไม่ได้ 

กรมหลวงวชิรญาณวงศ์แห่งวัดบวรฯ เคยมีดำรัสถึงเรื่องพระกริ่ง ปวเรศนี้ว่า "เท่าที่ฉันได้ยินมานั้น สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ท่านทรงสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง มีจำนวนน้อยมาก น่าจะไม่เกิน 30 องค์ ต่อมาได้ประทานให้หลวงชำนาญเลขา (หุ่น) ผู้ใกล้ชิดพระองค์นำไปจัดสร้างขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่หลวงชำนาญเอาไปเทนั้น จะมากน้อยเท่าใดฉันไม่ได้ยินเขาเล่ากัน"

การสร้างพระกริ่งปวเรศของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ นั้น น่าจะเนื่องจากว่าท่านได้รับการถวายพระกริ่งที่เรียกกันว่า "กริ่งปทุมสุริวงศ์" พร้อมตำราการสร้างพระกริ่งและตำรามงคลโลหะ ที่มีมาแต่โบราณสืบค้นได้ถึงสมัยสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ทรงเห็นว่าพระกริ่งนั้นดีมีมงคล หากจะสร้างขึ้นตามตำรา แต่ดัดแปลงพุทธลักษณะที่คล้ายเทวรูปในคตินิยมแบบมหายาน ให้มีพุทธลักษณะคตินิยมแบบหินยานก็น่าจะมีเอกลักษณ์ดี

อีกทั้งเมื่อมีการขยับพระพุทธชินสีห์คราวสร้างฐานชุกชีนั้น พบว่ามีเนื้อฐานพระพุทธชินสีห์ชำรุดจึงโปรดให้ช่างตัดแต่งให้งามดุจเดิม และเนื้อฐานพระพุทธชินสีห์นั้นเองล่ะกระมังที่เป็นแรงบันดาลใจ เมื่อทรงได้ตำราสร้างพระกริ่งและตำราโลหะมงคลมา จึงได้นำโลหะที่เหลือจากการแต่งฐานพระพุทธชินสีห์มาใช้ เพราะนานไปเศษโลหะนั้นจะไม่มีผู้รู้ค่าว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์จะถูกทิ้งเสียเปล่า

พระองศ์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล ได้ทรงดำรัสถึงเรื่องพระต้นแบบพระกริ่งปวเรศเป็นความว่า "ฉันเห็นหม้อน้ำมนต์ของวัดบวรนิเวศวิหาร ฉันได้เอาแว่นขยายส่องดู จึงแน่ใจว่าเป็นพระกริ่งใหญ่ (พระกริ่งจีน) หรือที่เรียกกันว่าปทุมสุริวงศ์ อันน่าจะได้รับถวายมาจากราชวงศ์นโรดมกัมพูชา" สำหรับพระกริ่งใหญ่หรือพระกริ่งปทุมสุริวงศ์นี้ เป็นพระกริ่งของจีนโบราณสมัยหมิง ได้แพร่หลายเข้ามานานแล้ว แต่ที่พบจะมาพร้อมพระกริ่งบาเก็ง ซึ่งศิลปะสกุลช่างจีนเช่นเดียวกันแต่พบที่ปราสาทบาแคงที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาพนมบาแคง

พระกริ่งปวเรศนั้นเป็นพระกริ่งที่สร้างหล่อทีละองค์ แบบเบ้าดินเผาแบบประกบ เมื่อเทเสร็จจะต้องนำมาเกาแต่งใหม่ทั้งองค์ และทุกองค์มีการอุดก้นด้วยแผ่นทองแดงและทองฝาบาตรประสานด้วยเงินสำหรับโค้ดลับเม็ดงานั้น ได้มีการตอกไว้จริงแต่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันทุกองค์ จะถือการตอกผิดตำแหน่งเป็นของปลอมก็มิสมควร ต้องพิจารณาให้ละเอียด

พระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งที่หายากสุดๆ และมีราคาเช่าบูชากันหลักหลายๆ ล้าน จนถึงสิบกว่าล้าน มีความเชื่อกันว่า ผู้ใดได้มีอยู่ในความครอบครองผู้นั้นจะดีนอกดีใน ทุกประการ ดีใน คือ เป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อายุยืน ดีนอกคือ จะเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต และจะเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานตลอดเวลา 

ที่สำคัญจะเป็นผู้ที่อุดมไปด้วยความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์เป็นเศรษฐีตลอดกาล

ขอบคุณที่มาบทความ  
คอลัมน์ มุมพระเก่า
อภิญญา
ข่าวสดรายวัน ฉบับที่ 7237-7238 ปีที่ 20
วันที่ 22-23 กันยายน พ.ศ. 2553 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น