วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

พระซุ้มนครโกษา จ.ลพบุรี

                                                                       

เมืองลพบุรี หรือเมืองละโว้ เป็นดินแดนแห่งอารยธรรมอันเก่าแก่ และมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคปัจจุบัน จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น อาทิ พระปรางค์สามยอด ศิลปกรรมชิ้นเอกนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.1800 จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรี ก็ยังคงความเป็นเมืองที่สำคัญและเป็นหัวเมืองที่อยู่ในเขตราชธานี สถาปัตยกรรมและพระเครื่องต่างๆ ของลพบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบขอม แต่มีฝีมือช่างอู่ทองและอยุธยาอยู่บ้าง

พระเครื่องส่วนมากจะเป็นพระเนื้อชิน ที่เป็นเนื้อดินและเนื้อสัมฤทธิ์มีน้อยมาก มีอาทิ พระร่วงหลังลายผ้า พระหูยาน พระนาคปรกวัดปืน พระหลวงพ่อแขก ฯลฯ ซึ่งล้วนมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องทั้งสิ้น และ "พระซุ้มนครโกษา วัดนครโกษา" ก็เป็นหนึ่งในพระกรุเก่าแก่ที่นิยมเล่นหากันอย่างกว้างขวางเช่นกันครับผม

พูดถึง "วัดนครโกษา" เป็นวัดเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสถานีรถไฟลพบุรี ด้านตะวันออกใกล้กับศาลพระกาฬเดิม มีซากโบราณสถาน คือ เจดีย์องค์ใหญ่สมัยทวารวดี พระปรางค์สมัยลพบุรี ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 (ประมาณ พ.ศ.1700) อยู่ด้านหน้า แต่พระพุทธรูปปูนปั้น แบบอู่ทอง บนพระปรางค์นั้น สร้างขึ้นภายหลัง สันนิษฐานว่า ในอดีตน่าจะเป็นเทวสถานของขอมในสมัยลพบุรี 

                                                                                


ต่อมาสมัยอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างเป็นวัดขื้น จึงให้ชื่อวัดว่า "วัดนครโกษา" ดังจะเห็นได้จากซากปรักหักพังของพระวิหาร ซึ่งเหลือแต่ผนัง และเสาอยู่ทางด้านหน้า รวมทั้งเจดีย์สูง ก่อด้วยอิฐอยู่เบื้องหลัง และมีพระพุทธรูปปั้นชำรุดของสมัยอยุธยา และที่วัดนครโกษานี้เอง ได้มีการขุดพบพระเนื้อชิน ปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่ในซุ้ม จึงขนานนามองค์พระว่า "พระนครโกษา" ตามชื่อวัด แต่คนมักนิยมเรียกกันว่า "พระซุ้มนครโกษา" เนื่องด้วยองค์พระประธานประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน 

ภายหลัง เมื่อมีการขุดพบพระที่มีพุทธลักษณะเหมือนกันนี้ ไม่ว่าจะขุดพบจากกรุไหน เมืองไหน ก็ตาม ก็จะเรียกกันว่า พระซุ้มนครโกษา ทั้งสิ้น โดยถือว่า ต้นกำเนิดที่ขุดพบครั้งแรกนั้น มาจาก วัดนครโกษา นั่นเอง

"พระซุ้มนครโกษา" ลักษณะเป็นพระเนื้อชินเงิน มีทั้งสนิมปรอท และสนิมดำหรือสนิมตีนกา องค์พระมีขนาดเล็กกะทัดรัด ความกว้างจากฐานประมาณ 2 ซ.ม. และสูง 3.5 ซ.ม. องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เหนืออาสนะฐานบัวแบบฐานสูง เอกลักษณ์สำคัญ คือ สถิตอยู่ในซุ้มลึก 

พุทธศิลปะของพระซุ้มนครโกษานั้น เป็นแบบเดียวกับ พุทธศิลปะของพระเขมรขนนก กรุย่านสำปะซิว จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีพุทธศิลปะเหมือนพระสมัยลพบุรีที่ขุดได้ที่เขมร เพียงแต่คนละเนื้อกันเท่านั้น จึงสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างในสมัยลพบุรีเช่นกัน นับอายุการสร้างแล้วจึงเป็นพระเก่าแก่กว่า 600 ปีทีเดียว

ต่อมา "พระซุ้มนครโกษา"7 มีการแตกกรุอีกครั้งที่ในบริเวณโรงเรียนเทคนิคลพบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ วัดนครโกษา เนื่องด้วยทางโรงเรียนจะทำการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ เมื่อช่างก่อสร้างขุดหลุมเพื่อเริ่มการก่อสร้าง สันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนโรงเรียนเทคนิคลพบุรีน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดนครโกษา เพราะมีการพบซากอิฐเนินดินจมอยู่หลายแห่งซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสถูปเจดีย์ของวัด แต่จำนวนพระที่พบน้อยมาก

ความที่เป็นพระกรุเก่าแก่ ที่มีพุทธลักษณะงดงาม พิมพ์ทรงองค์พระคมชัดลึก และด้วยพุทธคุณของพระเครื่องเมืองละโว้ซึ่งเป็นที่ปรากฏประจักษ์มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ว่าเยี่ยมยอดนักในด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี

จึงทำให้ "พระซุ้มนครโกษา" ได้รับความนิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง โดยเฉพาะ "พระซุ้มนครโกษา วัดนครโกษา" ซึ่งเป็นการแตกกรุครั้งแรกครับผม



ขอบคุณที่มา ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง 
โดย ราม วัชรประดิษฐ์

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7242 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น